วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ครูผู้ชี้ทางปัญญา

บทบาทของครู

ยุคนี้บทบาทของครูได้เปลี่ยนจาก "ผู้บอกวิชา" มาเป็น "ผู้ชี้ทางปัญญา"
ซึ่งนอกจากความรู้ด้านวิชาการแล้ว "ครู" ยังต้องศึกษา ติดตาม หาข้อมูล
จากแหล่งความรู้รอบตัว รอบด้าน เพื่อใช้อ้างอิง และนำมาชี้แนะให้ "เด็ก"
เกิดความอยากเรียนรู้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ให้เด็กได้ค้นพบสิ่งที่ตนเองสนใจ มาก
กว่าที่จะเรียนรู้ไปตามที่ครูเล่าบอกในวิชาตามหลักสูตรเท่านั้น
"เด็กสมัยใหม่" ต้อง "รู้รอบ" และ "รักการเรียนรู้"

ครูยังต้องมีหน้าที่เสริมฐานความรู้ของเด็กให้แข็งแรงเพียงพอที่จะก้าวเดิน
สู่โลกแห่งการเรียนรู้ เพื่อการนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตตนเอง กับครอบครัว
กับสังคม กับประเทศชาติ กับโลก วิธีการสอนจึงต้องเปลี่ยนจากที่เน้น
"การบอกเล่า" มาเป็นการ "ชี้แนะ" ด้วยการอธิบายเบื้องต้น ยกตัวอย่าง
ให้เด็กคิดและมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนสิ่งที่พวกเขารู้ ซึ่งอาจจะรู้มาจาก
การพูดคุยสอบถามกับ พ่อ แม่ ปู่ ยา ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา พี่ น้อง เพื่อน
คนข้างบ้าน พ่อค้า แม่ค้าตลาด คนกวาดถนน คนเก็บขยะ คนขายล็อตเตอรี่
คนขับรถเมล์ พนักงานในห้าง ฯลฯ มาจากการเล่าสู่กันฟัง หรือรู้เห็นด้วยตน
เองจากการอ่านหนังสือ ชมรายการโทรทัศน์ เคเบิ้ลทีวี ที่ให้สาระความรู้
แม้แต่จากอินเตอร์เน็ต สิ่งเหล่านั้นเป็นกิจกรรมที่เด็กจะต้องลงมือทำด้วย
ตนเอง (ส่วนผู้ปกครองที่ช่วยเด็กทำการบ้าน - แบบพ่อแม่ทำซะเอง นี่น่าที่จะโดนตำรวจจับ ข้อหา
"บั่นทอนกำลังของชาติ" เกี่ยวกับความมั่นคงเชียวนะคะ)

"การเรียน" ที่ถูกต้อง ไม่ได้จำกัดสถานที่ แลเวลา อยู่แต่ที่โรงเรียน หรือ
สถาบันการศึกษาเท่านั้น แต่เราสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ตราบใดที่
เราสนใจและตั้งใจอยากจะไขว่คว้าหาความรู้ บางครั้งคำตอบก็อยู่เพียงแค่
ปลายนิ้วสัมผัส เพียงแต่เรายังไม่ได้ค้นพบมันเท่านั้น

"ความรู้" จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าคนที่กำลังเรียนไม่ "คิด" ตามไปด้วย รู้หนึ่ง
แล้วยังมีสองให้รู้อีก คิดแล้วให้เกิดความ "สนใจ" ที่จะรู้ให้กว้างขึ้น ลึกขึ้น
รู้ถึงผลกระทบ ที่จะตามมา รู้ถึงว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าสิ่งนั้นยังเป็นเช่นนั้น หรือ
สิ่งนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มีผลกระทบกันเราอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น
ครูนำเรื่อง "ปัญหาโลกร้อน" มาคุยกับเด็กในวิชาวิทยาศาสตร์ วิฃาภูมิศาสตร์
วิชาเรียงความ วิชาภาษาอังกฤษ ฯลฯ ให้เด็กเรียนรู้กฎของธรรมชาติ เรียนรู้
เรื่องภัยพิบัติจากธรรมชาติ เรียนรู้ที่จะคิดหาทางปกป้องอันตราย เรียนรู้ที่จะ
แก้ไขสิ่งที่ยังผิดพลาดอยู่ เรียนรู้ที่จะเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์
ส่วนรวม เรียนรู้ที่จะพัฒนาความคิดออกมาเป็นแนวทางปฏิบัติ เรียนรู้ที่จะทำ
โครงการที่เป็นรูปธรรม เรียนรู้ที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคม เรียนรู้ที่จะทำงาน
ร่วมกับผู้อื่น เป็นต้น

เพียงประเด็นเดียวที่ครูจับขึ้นมา สามารถสร้างเด็กเล็กๆ ให้กลายเป็นผู้ใหญ่
ทางความคิด ทางสังคม ขึ้นมาได้ ถ้าครูจะคอยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง คอยให้
คำแนะนำ ชี้ทางให้เด็ก ได้ใช้ความสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ตลอดจนถึง
กล่อมเกลาวิธีคิดให้มองสิ่งต่างๆอย่างมีมิติ กว้างไกล ลึกซึ้ง สอนให้เด็กรู้จัก
เลือก รู้จักจัดลำดับความสำคัญของงาน รู้จักรับผิดชอบ รู้จักสิทธิและหน้าที่
ของตนเมื่อต้องมาอยู่ในสังคมร่วมกัน ฯลฯ

บทบาทใหม่ของครู

การเตรียมการสอน และการรู้ในเรื่องที่จะสอนนั้น ถือเป็นหน้าที่และความรับ-
-ผิดชอบพื้นฐานของผู้ที่จะทำหน้าที่ครูอยู่แล้ว แต่ประตูสู่กระบวนการเรียนรู้
ของเด็กในปัจจุบันนั้น ต้องอาศัยครูเป็นผู้ไขกุญแจเปิดให้เด็กก้าวย่างออกไป
ด้วยขาที่แข็งแรง ให้เขากล้าทำสิ่งใหม่ๆ ให้เขารู้จักแบ่งแยกดีชั่ว ให้เขายึดมั่น
ในการทำความดีในขณะที่ก็ไม่เป็นคนอ่อนแอให้คนอื่นมาเอาเปรียบหรือหลอก
ลวงได้ง่ายๆ สิ่งที่ครูต้องปลูกฝังในตัวเด็กที่เป็นลูกศิษย์นั้น นับว่ามีคุณค่าต่อ
ชีวิตเยาวชนของชาติมากมายนัก ดังนั้น ครูจึงต้องเตรียมตัวเองให้เป็น "ผู้ตื่น"
"ผู้พร้อม" "ผู้รู้" เสียก่อน ไม่ว่าจะเรื่องเทคโนโลยี่ อินเตอร์เน็ต การใช้มัลติมีเดีย
ประกอบการสอน เรื่องแหล่งศึกษาหาความรู้ต่างๆ ครูต้องมีศิลปะในการจูงใจ
ในการมองเด็กและสามารถเข้าถึงจิตใจเด็ก เพื่อได้กระตุ้นและสนับสนุนเด็กให้
เข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีพได้อย่างสมความภาคภูมิ

บทบาทใหม่ของภาคเอกชน

อาชีพครูทุกวันนี้ ยังมีความลำบากอยู่มาก ทั้งที่เปนบุคคลสำคัญต่ออนาคตของ
ชาติ แต่กลับได้รับผลตอบแทนที่บางที่บางแห่ง อาจเรียกได้ว่า "ไม่คุ้มเหนื่อย"
แต่เพราะวิญญาณความเป็นครูให้ครูอดทนอยู่กับอาชีพนี้ตลอดมา สมัยนี้ การจะ
ให้ครูสักคนหนึ่งรอบรู้ไปทุกเรื่องคงเป็นไปได้ยาก มิหนำซ้ำ บางสาขาวิชาก็
ขาดแคลนครูที่จะสอน บางถิ่นที่ก็ไม่มีคนอาสาไปสอน ต้องอาศัยตำรวจ
ตระเวนชายแดนบ้าง ทหารบ้างช่วยสอนหนังสือ แล้วภาคเอกชนล่ะ ?

ในภาคเอกชน อุดมไปด้วยผู้เชียวชาญเฉพาะด้าน ผู้ชำนาญการด้านต่างๆ
ไม่ว่าจะเรียนจบมานาน ได้รับปริญญาหรือไม่ได้รับก็ตาม บุคลากรเหล่านี้
สามารถเข้ามามีส่วนในการพัฒนาองค์ความรู้ของเด็กๆได้
ถ้าโรงเรียนกับภาคเอกชน ให้ความร่วมมือที่ดีต่อกัน เด็กๆจะ
ได้รับความหลากหลายในการเรียนรู้ยิ่งขึ้น

อย่าลืมว่าผู้ปกครองของเด็กๆ รวมทั้งตัวเด็กๆเองก็เป็นลูกค้าที่อาจซื้อสินค้า
หรือบริการจากกิจการใดกิจการหนึงของเอกชน การจะตอบแทน
ลูกค้า ด้วยการดูแลให้ความรู้เสริมแก่ลูกหลานของลูกค้า
จะทำไม่ได้เชียวหรือ การทำคุณความดีให้แก่สังคม แม้จะต้อง
มีค่าใช้จ่าย ต้องเสียกำลังคนมาในระบบการสอน (ชั่วคราว)
บ้าง ก็คงไม่ทำให้กำไรหดหายไปเท่าไหร่ ยิ่งถ้าได้รับการสนับ-
-สนุนจากภาครัฐ ด้วยการช่วยลดภาษีให้ ก็น่าจะพิจารณา
ทำกันให้มาขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการโปรโมทแบรนด์ที่ดีอีก
ทางหนึ่ง สมัยนี้ การทำธุรกิจที่ไม่เผื่อแผ่ให้แก่สังคมบ้าง
เป็นเรื่องที่น่าละอายเป็นอย่างยิ่ง ส่วนการทำเอาหน้าหวัง
เอาประโยชน์โดยไม่ได้มีความจริงใจ หรือใส่ใจในผลที่จะเกิด
กับเด็กๆซึ่งเป็นอนาคตของชาติอย่างจริงใจนั้น ยิ่งน่ารังเกียจ
มาก(กว่า)

เมื่อก่อนเราเปรียบ ครูเสมือนเป็น "เรือจ้าง" เดี๋ยวนี้ก็ยังคงเป็นอยู่
แต่คงไม่ใช่เรือพายเสียแล้ว ต้อง "เป็นเรือสะเทิ้นน้ำสะเทิ้น
บกติดเทอร์โบ ติดเครื่องด้วยจิตสำนึกอันดี เดินเครื่อง
ด้วยแนวทางการพัฒนความฝันของแผ่นดินให้เป็นจริง
ขึ้นมา"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น